ชลิตฯ จับมือ มจธ.มอบรางวัลวิจัยดีเด่น ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2020

การวิจัยและพัฒนาเป็นการดึงเอาความรู้ความสามารถของทรัพยากรมนุษย์มาจัดระเบียบผ่านงานวิจัยเพื่อจะนำองค์ความรู้ที่จัดระเบียบแล้วไปต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต การสนับสนุนการศึกษาด้วยการเปิดเวทีให้นักศึกษาผลิตผลงานวิจัยออกมาประชันกัน นับว่ามีความสำคัญอย่างมากในการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถ และพัฒนาตนเอง มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งสติปัญญา จิตใจ ร่างกายและสังคม ให้มีความพร้อมที่จะประกอบการงานอาชีพ รวมทั้งยังสามารถช่วยแก้ปัญหาหลายๆ ด้าน ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตและภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้การศึกษายิ่งมีบทบาทและความจำเป็นมากขึ้นเพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้านทั้งการพัฒนาตนเองและประเทศชาติต่อไป

 

เพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษา บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยาง ภายใต้แบรนด์ “POP” จึงจัดตั้งโครงการ ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2020” (Chalit Industry Award 2020)” โดยความร่วมมือของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อช่วยส่งเสริมและเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับน้องๆ เยาวชนไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและประเทศชาติ

ผศ.นิธิ บุรณจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมด้วย นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ และทีมผู้บริหารบริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด มอบรางวัลวิจัยดีเด่นและใบประกาศเกียรติคุณฯ โครงการ ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2020” โครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ประจำปี 2563 สำหรับนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 โดยมี รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าศูนย์ศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมการเชื่อมฯ ร่วมแสดงความยินดีฯ ณ ห้องประชุม ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

 

นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมสนับสนุนด้านการศึกษาพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับน้องๆ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งจะเห็นได้ว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการเรียนรู้เสมอ เหมือนที่น้องๆได้มีการเรียนรู้ วิจัยและพัฒนาโครงงานฯอย่างสร้างสรรค์ โดยนำมาใช้ได้จริง

 

ทั้งนี้โครงการ ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2020” จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการฯที่ช่วยสานต่อเจตนารมณ์และนโยบายเพื่อสังคมของบริษัทฯ โดยเล็งเห็นว่า ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้มีความมุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรด้านวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตฯ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมการผลิตที่ดีเยี่ยมทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

 

ทางด้าน ผศ.นิธิ บุรณจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ มุ่งมั่นในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการวิจัย พัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมะกับสมกับทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งงานวิจัยในสาขาของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นงานที่เกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดสาขาหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งนักศึกษานับเป็นนักวิจัยคนรุ่นใหม่ที่จะนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติและต่อยอดได้อย่างดี และเป็นเรื่องดีที่ได้มีการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมภายนอก อย่างบริษัทชลิต อินดัสทรีฯ ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยได้โจทย์วิจัยใหม่ๆ เพื่อการวิจัยและการพัฒนาต่อไปที่เหมาะกับภาคอุตสาหกรรมจริงๆ

 

ทั้งนี้ โครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ประจำปี 2563 ที่ได้รับรางวัล ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2020 ประกอบด้วย 4 โครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ทางด้านต่างๆ ได้แก่

1.) ด้านเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ เกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพของเนื้อโลหะเชื่อมในวัสดุอลูมิเนียมผสมโดยใช้กระบวนการเชื่อมแบบผสมของกระบวนการเชื่อมอาร์กโลหะแกสคลุมและกระบวนการเชื่อมอาร์กทังสเตนแกสคลุม โดยนางสาววรรณรัตน์ สุขเกษมทรัพย์, นางสาวศุภนิดา พรหมมา และนายพิชชากร เจียนระลึก

2.) ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีComputer vision และ Machine Learning ซึ่งเป็นการศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์และการเรียนรู้จักรกลในงานตรวจสอบงานเชื่อมต้านทานแบบจุด โดย นายวัชนันท์ พิริยบรรเจิด, นางสาวธัญญารัตน์ สาคำไมย์ และนายรุ่งโรจน์ แก้วศรี

3.) ด้านการเพิ่มผลผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตของกระบวนการผลิตชิ้นส่วน Shaft ใน อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยนางสาวสุณัฐชา หนูแก้ว และนางสาวปฐมธร ขำวงศ์

4.) ด้านการพัฒนาอุปกรณ์ทดสอบในอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นการใช้เครื่องทดสอบโช้คอัพในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยนายพิสิษฐ์ ทองใส, นายวิศิษฐ์ บุญพรม และนางสาวณัฏฐริดา บุทธยักษ์

 

ทั้งนี้ โครงการ ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2020 (Chalit Industry Award 2020)” เป็นต้น

แบบของรางวัล และเป็นกำลังใจอีกทางหนึ่ง ซึ่งคาดว่านักศึกษาเหล่านี้จะนำผลงานไปพัฒนาและต่อยอดความรู้ความสามารถที่จะเป็นประโยชน์ในเชิงธุรกิจต่อไป

Visitors: 5,034,698