สภาพัฒน์ ผนึกกำลัง สกสว. มุ่งใช้ ววน. ขับเคลื่อน 13 หมุดหมาย

สภาพัฒน์ ร่วมกับ สกสว. จัดทำแผนงานความร่วมมือ ระยะ 4 ปี เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคีวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมกันจัดงาน “ผนึกกำลังขับเคลื่อนไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจุดประกายการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งได้มีการลงนามแผนงานความร่วมมือระยะ 4 ปี ระหว่าง สศช. และ สกสว. พ.ศ. 2567 – 2570 เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วย ววน.

นายดนุชา พิยชนันท์ เลขาธิการ สศช. ได้ชี้ให้เห็นว่า การพลิกโฉมประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ 13 หมุดหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ ววน. เป็นรากฐาน ซึ่งแผนงานความร่วมมือระหว่าง สศช. และ สกสว. นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสนับสนุนให้การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ด้วย ววน. เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ การบ่มเพาะสตาร์ทอัพ การพัฒนาระบบเตือนภัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ การยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐด้วยนวัตกรรมด้านข้อมูล โดยเลขาธิการ ลศช. ยังได้เน้นย้ำอีกครั้งว่า “ในระยะ 4 ปีข้างหน้าของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เราจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแผนด้วย ววน. และแผนงานความร่วมมือฯ นี้ จะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมเป็นพลังของการขับเคลื่อนได้”

ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สกสว. ได้ฉายภาพสาระสำคัญของแผนงานความร่วมมือ ที่มี ขอบเขตครอบคลุม 1) การใช้ประโยชน์จากผลงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 2) การจัดสรรทุนวิจัยรูปแบบใหม่ที่จะตอบโจทย์ 13 หมุดหมาย และแผนด้าน ววน. ทั้งการพัฒนาผลงานด้าน ววน. ในส่วนที่ยังเป็นช่องว่าง และการต่อยอดจากผลงานด้าน ววน. ที่มีอยู่เดิม และ 3) การขับเคลื่อนกลยุทธ์การพัฒนาภายใต้ 13 หมุดหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และ 15 แผนงานสำคัญของแผนด้าน ววน. ใน 14 พื้นที่ร่องทั่วประเทศ ซึ่งบทเรียนที่ได้จากการขับเคลื่อนจะถูกนำไปใช้ในการออกแบบและพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์ ตลอดจนแผนงาน/โครงการ ต่อไป

ภายในงานดังกล่าว ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในการร่วมเสวนา เรื่อง “From Research to Practice: การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อขับเคลื่อนแผนฯ 13” ซึ่งเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำผลงาน ววน. ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ โดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ได้ชี้ให้เห็นถึง แนวทางการขับเคลื่อน ววน. เพื่อตอบโจทย์ 13 หมุดหมาย ผ่านการออกแบบงานวิจัยบน Impact Pathway และการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

ขณะที่ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. ได้กล่าวถึง เป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบ ววน. ที่มุ่งหวังให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เกิดการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทุนและทรัพยากรเพื่อการพัฒนา และการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งได้นำเสนอตัวอย่างการนำผลงานด้านวิทยาศาสตร์ไปใช้ในกระดับพื้นที่ สำหรับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เล่าถึงประสบการณ์ ในการผลักดันให้ผลงานวิจัยของ กสศ. ถูกนำไปใช้ในการออกแบบระบบงบประมาณด้านการศึกษาที่เสมอภาคและเป็นธรรม

นอกจากนี้ ดร. สุทธิพงศ์ ธัชยพงษ์ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ NECTEC สวทช. ยังชี้ให้เห็นว่า การสื่อสารกับทุกภาคส่วน เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูล TP MAP ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราสามารถใช้นวัตกรรมทางด้านข้อมูลในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าได้ โดยในการเสวนาดังกล่าว มี นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สศช. ได้ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินรายการ และได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การผนึกกำลังของพวกเราทุกคน จะเป็นแรงขับเคลื่อนหนึ่งที่สำคัญ ที่จะทำเกิดการพลิกโฉมประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วย ววน. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ทั้งนี้ หากผู้ที่สนใจต้องการรับชมงานดังกล่าวย้อนหลัง สามารถรับชมได้ที่ Facebook ของสภาพัฒน์

Visitors: 5,034,904