โตโยต้า คว้า 4 รางวัล คุณภาพสูงสุด จาก J.D.Power

J.D.Power เผยผลศึกษาคุณภาพรถยนต์ใหม่ในไทยพบปัญหาระบบอินโฟเทนเมนท์เพิ่มขึ้น โตโยต้าครองมากสุด 4 รางวัล ด้านมิตซูบิชิและบีวายดี คว้าชัยแบรนด์ละ 2 รางวัล

 

J.D.Power ระบุ พบผู้ใช้รถยนต์ในไทยรายงานปัญหาคุณภาพรถเพิ่มขึ้นในปีนี้ (89% เทียบกับ 81% ในปี 2566) โดยระบบอินโฟเทนเมนท์มีอัตราการพบปัญหาสูงสุด ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการปรับปรุงคุณภาพรถยนต์, ตามรายงานผลการศึกษาคุณภาพรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยปี 2568 (J.D. Power 2025 Thailand Initial Quality StudySM (IQS)) — ฉบับที่ 1

จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของรถยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย การศึกษานี้จึงได้รับการปรับปรุงใหม่ให้ครอบคลุมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEVs) และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เจ้าของรถยนต์พลังงานใหม่ (NEVs) และเจ้าของรถยนต์ทั่วไป (เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือไฮบริด) รายงานปัญหาคุณภาพในระดับใกล้เคียงกัน โดยเจ้าของรถยนต์พลังงานใหม่ (NEVs) รายงาน 179 ปัญหาต่อรถ 100 คัน (PP100) ส่วนเจ้าของรถทั่วไปมีระดับปัญหาที่ 177 ( PP100 ) เจ้าของรถยนต์พลังงานใหม่ (NEVs) พบปัญหามากกว่าในหมวดระบบปรับอากาศและอินโฟเทนเมนท์ ขณะที่เจ้าของรถทั่วไปพบปัญหามากกว่าที่เบาะนั่ง, ตัวถังภายนอกรถยนต์ และภายในห้องโดยสาร คะแนน PP100 ที่ต่ำกว่าบ่งชี้ถึงปัญหาที่น้อยกว่า หรืออีกนัยหนึ่งคือระดับคุณภาพรถที่สูงกว่า

 

“เจ้าของรถรุ่นใหม่มักเชื่อมต่อกับอุปกรณ์มือถืออย่างใกล้ชิดและถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำ วัน ” นายไชยวัฒน์ เกษาพร ผู้จัดการโครงการอาวุโสและหัวหน้านักวิเคราะห์จาก Differential ประเทศไทย กล่าว “ดังนั้น พวกเขาจึงคาดหวังการเชื่อมต่อที่ไร้รอยต่อเมื่อขึ้นและลงจากรถ อย่างไรก็ตาม ระบบอินโฟเทนเมนท์ที่นำเสนอในรถยนต์รุ่นปัจจุบันยังคงเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากผู้ใช้มักประสบปัญหาการเชื่อมต่อบลูทูธ, ช่องจ่ายไฟ/ชาร์จไฟสำหรับอุปกรณ์พกพาไม่เพียงพอ, ความเร็วในการชาร์จช้า และหน้าจอสัมผัสที่ไม่ตอบสนอง”

รุ่นรถที่ได้อันดับสูงสุดในด้านคุณภาพ

โตโยต้า ยาริส เอทีฟ ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก (Compact Car) 166 PP100

ฮอนด้า ซิตี้ อี:เอชอีวี แฮทช์แบ็ก ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (Entry Midsize Car) 167 PP100

โตโยต้า ยาริส ครอส ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดเล็ก (Compact SUV) 165 PP100

โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ (Large SUV) 170 PP100

มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ (MPV) 178 PP100

อีซูซุ ดีแมคซ์ สปาร์ค ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะตอนเดียว (Pickup Single Cab) 173 PP100

โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ และ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ สมาร์ทแค็บ ได้อันดับสูงสุดเท่ากันในกลุ่มรถกระบะตอนขยาย (Pickup Extended Cab) 188 PP100

มิตซูบิชิ ไทรทัน พลัส ดี-แค็บ ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถกระบะสี่ประตู (Pickup Double Cab) 165 PP100

บีวายดี ดอลฟิน ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV Car) 167 PP100

บีวายดี แอตโต้ 3 ได้อันดับสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงพลังงานใหม่ (NEV SUV) 180 PP100

 

“การวัดคุณภาพของรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่ม NEV ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและเสริมสร้างชื่อเสียงของแบรนด์” นายอัตสึชิ คาวาฮาชิ ผู้อำนวยการอาวุโสของ เจ.ดี. พาวเวอร์ ประเทศญี่ปุ่นกล่าว “ด้วยการใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้เพื่อปรับปรุงคุณภาพอย่างทันท่วงที จะช่วยให้ผู้ผลิตยานยนต์สามารถสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่แข็งแกร่ง เพิ่มมูลค่าขายต่อ ลดต้นทุนการรับประกัน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดรถยนต์ของไทยได้”

 

การศึกษานี้จัดทำร่วมกับ ดิฟเฟอเรนเชียล โดยวัดปัญหาที่พบใน 10 ประเภทปัญหาคุณภาพสำหรับรถเครื่องยนต์สันดาปภาพใน (ICE), ไฮบริด (HEV, PHEV) และ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV) โดยมีประเภทของปัญหาคุณภาพดังนี้: ระบบปรับอากาศ, ระบบช่วยขับ, ประสบการณ์ในการขับขี่, ภายนอกรถ, เครื่องยนต์/มอเตอร์และระบบส่งกำลัง, ฟีเจอร์/ปุ่มควบคุม/หน้าจอ, อินโฟเทนเมนท์, ภายในรถ และเบาะนั่ง สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (BEV)  จะมีหมวดแบตเตอรี่และการชาร์จเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งหมวด

 

ผลการศึกษาคุณภาพรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยปี 2568 (J.D. Power 2025 Thailand IQS) — ฉบับที่ 1 นี้ อ้างอิงจากการตอบแบบสอบถามของเจ้าของรถใหม่จำนวน 4,721 ราย ซึ่งซื้อรถระหว่างเดือนมิถุนายน 2567 ถึงมกราคม 2568 โดยทำการสำรวจภาคสนามระหว่างเดือนธันวาคม 2567 ถึงกุมภาพันธ์ 2568 ใน 22 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ ครอบคลุมรถยนต์ 55 รุ่นจาก 14 แบรนด์ โดยจัดอันดับจากจำนวนปัญหาต่อรถยนต์ 100 คัน (PP100) ซึ่งคะแนนน้อยแสดงถึงคุณภาพที่ดีกว่า สำหรับ ผลการศึกษาคุณภาพรถยนต์ใหม่ในประเทศไทยปี 2568 (J.D. Power 2025 Thailand IQS) — ฉบับที่ 2 จะเผยแพร่ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

 

เกี่ยวกับ เจ.ดี. พาวเวอร์

เจ.ดี. พาวเวอร์ เป็นผู้นำระดับโลกด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้บริการข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจ ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภค และโซลูชันที่ปรึกษาสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เจ.ดี. พาวเวอร์ ใช้ฐานข้อมูลเฉพาะและซอฟต์แวร์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูงและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ

 

เจ.ดี. พาวเวอร์ ก่อตั้งในปี 1968 ปัจจุบัน มีสำนักงานอยู่ในอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก ข้อมูลเพิ่มเติม : https://japan.jdpower.com

 

เกี่ยวกับ ดิฟเฟอเรนเชียล

ดิฟเฟอเรนเชียล เป็นบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์และวิจัยทางการตลาดที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค กลยุทธ์ของแบรนด์ และข้อมูลเชิงลึกทางการตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความเชี่ยวชาญในการตัดสินใจเชิงข้อมูล บริษัทช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถรับมือกับสภาพตลาดที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกทางวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง

 

บริการของ ดิฟเฟอเรนเชียล ครอบคลุมตั้งแต่งานวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ การวิเคราะห์คู่แข่งไปจนถึงการคาดการณ์แนวโน้มตลาด เพื่อช่วยให้ลูกค้าพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจและแผนการมีส่วนร่วมกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความแตกต่างของแต่ละภูมิภาค พร้อมให้การสนับสนุนองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ การเงิน และเทคโนโลยี เพื่อผลักดันการเติบโตและนวัตกรรม

Visitors: 6,032,332